เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ttb analytics ชี้ไทยติดอันดับสองของอาเซียนที่สหรัฐฯ เพ่งเล็งภายใต้นโยบาย Trump 2.0 จับตาไทยอาจถูกกดดันให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติมแลกกับการผ่อนคลายเงื่อนไขกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า ไทยมีความเสี่ยงจะถูกเพ่งเล็งจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้นโยบาย Trump 2.0 สูงเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน จากการที่สหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้ากับไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลการค้าของไทยสูง ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท จำนวนคำสั่งมาตรการ AD และ CVD ในหลายประเภทสินค้าสูงกว่าคู่เทียบ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่ค้ารายอื่น ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ นำมาเป็นข้อต่อรองในการพิจารณาขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าระลอกใหม่ ส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกกดดันให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญเพิ่มเติม อาทิ เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 
 
ชี้ไทยอาจถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ หลังได้เปรียบการค้าสูงเป็นอันดับสองของอาเซียน
 
นับตั้งแต่สงครามการค้าระลอกแรก (Trump 1.0) ในปี 2561 อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่น่าจับตามองอย่างมาก หลังได้อานิสงส์จากการที่จีนใช้อาเซียนเป็นฐานในการเปลี่ยนเส้นทางการค้า รวมถึงย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น จึงทำให้หลายประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1-2 เท่า เมื่อเทียบกับก่อนสงครามการค้าในปี 2560 โดยเฉพาะเวียดนามที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 เท่า 
 
สำหรับปี 2568 สงครามการค้าครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึงภายใต้ผู้นำสหรัฐฯ คนเดิมสมัยที่ 2 อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ (นโยบาย Trump 2.0) คาดว่าจะสร้างความปั่นป่วนแก่ตลาดการเงินและการค้าโลกอีกระลอก โดยทรัมป์มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขกฎหมายให้เอื้อต่อการแข่งขัน การลดภาษีบุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล การจัดการปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย การกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และที่สำคัญคือ การประกาศกีดกันทางการค้าผ่านการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60-100% เมื่อเทียบกับสงครามการค้าระลอกแรกที่อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเฉลี่ย 21.5% อีกทั้งยังมีแผนจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก 10-20% จากเดิมที่เก็บในอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยเพียง 3% 
 
ttb analytics มองว่า การที่ทรัมป์ยังไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งสหรัฐฯ อยู่ระหว่างแต่งตั้งคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (The United States Trade Representative : USTR) แต่ก็สะท้อนท่าทีของทรัมป์ต่อมาตรการทางการค้า Trump 2.0 ว่าจะมีความแตกต่างจาก Trump 1.0 โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ การที่ทรัมป์หยิบยกนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าครอบคลุมทุกประเทศในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อปูทางไปสู่ “การเจรจาต่อรองทางการค้าแบบเจาะจงเป็นรายประเทศและรายกลุ่มสินค้า” (Bilateral Agreement) เมื่อเทียบกับนโยบาย Trump 1.0 ที่พุ่งเป้าลดการขาดดุลการค้ากับจีนเป็นหลัก (เนื่องจากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุด สูงถึง 4.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ขณะนั้น (ปี 2561))

ทั้งนี้ ระดับความเข้มข้นของกรอบการเจรจาการค้าภายใต้นโยบาย Trump 2.0 ที่มีต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ จะมีความแตกต่างกันไปตามความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ โดย ttb analytics ประเมินจาก 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ระดับการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ (Bilateral Trade Surplus) 2) ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเทียบดอลลาร์สหรัฐ (Exchange Rate Adjusted Cost Advantage) 3) ส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าปลายทางในกลุ่มสินค้าเกษตร (MFN Tariff Excess on Agricultural Products) 4) ส่วนต่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าปลายทางในกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สินค้าเกษตร (MFN Tariff Excess on Non-agricultural Products) และ 5) ระดับการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของสหรัฐฯ ผ่านจำนวนคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) ที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (US International Trade Commission : USITC) 
 
ttb analytics ประเมินว่า ไทยมีแนวโน้มถูกเพ่งเล็งจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้ Trump 2.0 สูงเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากเวียดนาม เนื่องจากสหรัฐฯ เสียเปรียบทางการค้ากับไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น การเกินดุลการค้าของไทยสูงและเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาทระยะหลัง จำนวนคำสั่งมาตรการ AD และ CVD ในหลายประเภทสินค้า (เช่น เหล็กและโลหะ แผงโซลาร์ และเคมีภัณฑ์) สูงกว่าคู่เทียบ รวมถึงการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่ค้ารายอื่น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่าการส่งออกสูงถึง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 17% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด คิดเป็นกว่า 9.4% ของจีดีพีไทย ทำให้การยกมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสูงสุดถึง 20% ในระลอกนี้จะสร้างผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างมหาศาล ซึ่งจะเป็นการง่ายกับสหรัฐฯ ในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ทางการค้ากับไทย
 
คาดสหรัฐฯ อาจกดดันให้ไทยเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพิ่มเติม หลังไทยพยายามลดการนำเข้ามาโดยตลอด ที่ผ่านมา ไทยเป็นคู่ค้าในการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 16 เทียบกับคู่ค้าทั้งหมดกว่า 200 ประเทศ ด้วยมูลค่าส่งออกราว 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 แต่ปัจจุบันมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรกลับเหลือเพียง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 6.8% จนทำให้อันดับของไทยในฐานะคู่ค้าสำคัญในหมวดสินค้าเกษตรตกลงมาอยู่ที่อันดับที่ 25 ซึ่งแม้ส่วนหนึ่งจากการที่บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ หันมาตั้งโรงงานผลิตสินค้าเกษตรในไทยมากขึ้นแล้ว ยังมาจากการที่ไทยมีกลไกการปกป้องภาคการเกษตรซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมในประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์กำหนดมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน 23 รายการ เช่น นม ครีม และเครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง ผักและผลไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กาแฟ และ ยาสูบ (ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง)   
 
การถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐฯ เรื่องการจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าสูงและจำกัดโควตาสินค้าเกษตรไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับไทย ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ทรัมป์ได้ลงนามยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เป็นครั้งที่ 2 กับสินค้าไทย 231 รายการ คิดเป็นมูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้เหตุผลว่าไทยเปิดตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับหมูอย่างไม่เป็นธรรม (โดยสหรัฐฯ เคยตัดสิทธิ GSP ไทยครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากการที่ไทยล้มเหลวเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามหลักสากลในอุตสาหกรรมประมง) ด้าน USITC ยังชี้ว่าไทยมีการบริหารจัดการอัตราภาษีในและนอกโควตาที่ไม่โปร่งใส การควบคุมใบอนุญาตนำเข้าโดยพลการ และมาตรฐานอาหารที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ไทยยังคิดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยค่อนข้างสูงอยู่ที่ 42% เมื่อเทียบกับการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดสินค้าอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป (Unprocessed Food) อาทิ ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้สด ซึ่งทำให้สหรัฐฯ เสียอัตราภาษีนำเข้าสูงสุดถึง 216% เทียบกับประเทศอื่นที่ไทยมีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศซึ่งทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ลดลงเหลือ 0% ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรที่มาจากสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง 
 
คาดสหรัฐฯ อาจกดดันไทยให้เปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญเพิ่มเติม เพื่อต่อรองกับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่มาจากประเทศไทยในกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามเจรจาขอให้ไทย รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นนำเข้าสินค้าเกษตรหลายประเภท รวมถึงกดดันผ่านการตัดสิทธิประโยชน์ด้านการค้า การเรียกร้องให้แก้ไขกฎระเบียบการค้าขององค์การการค้าโลก ซึ่งคาดว่าแรงกดดันจาก Trump 2.0 จะส่งผลต่อท่าทีของไทยเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเกษตรหลายประเภท อาทิ เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่สุดแล้ว ttb analytics มองว่า ไทยอาจจำเป็นต้องผ่อนปรนมาตรการทางการค้ากับสหรัฐฯ ในบางข้อ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าในครั้งนี้ 
 
โดยสรุป ท่ามกลางกติกาการค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ผู้ประกอบการไทยควรกระจายความเสี่ยงผ่านการขยายช่องทางตลาดไปยังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง ประกอบกับไทยมีสิทธิประโยชน์ทางการค้า FTA กับอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลก
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ม.ค. 2568 เวลา : 15:22:23
24-01-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (23 ม.ค.68) ดัชนีอยู่ที่ 1,344.17 จุด ลบ 17.60 จุด

2. ประกาศ กปน.: 27 ม.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนประชาชื่น

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (23 ม.ค.68) ลบ 5.60 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,356.17 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 2,745 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,780 เหรียญ

5. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (23 ม.ค.68) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 33.91 บาทต่อดอลลาร์

6. ทั่วไทยอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย "ยอดดอย" หนาวถึงหนาวจัด 4 องศา มีน้ำค้างแข็งบางแห่ง "ยอดภู" 8 องศา

7. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.00 บาท/ดอลลาร์

8. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (22 ม.ค.68) บวก 11.70 เหรียญ นักลงทุนเดินหน้าซื้อทองคำสินทรัพย์ปลอดภัย

9. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (22 ม.ค.68) บวก 130.92 จุด รับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศโครงการลงทุน AI

10. ตลาดหุ้นไทยเปิด (23 ม.ค.68) ลบ 1.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,360.05 จุด

11. ข่าวดี!!! พรุ่งนี้น้ำมันลด "เบนซิน - แก๊สโซฮอล์" ลด 40 สต./ลิตร เว้น E85 ลด 50 สต.

12. ประกาศ กปน.: 28 ม.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนบางนา-ตราด

13. ตลาดหุ้นปิด (22 ม.ค.68) บวก 9.24 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,361.77 จุด

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (22 ม.ค.68) บวก 7.15 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,359.68 จุด

15. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 2,720 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,770 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 24, 2025, 3:53 am