
"ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมีนาคม 2568 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่ยังมีทิศทางดีขึ้นในภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจในภาคบริการและการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ควรติดตามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์สงครามการค้า และความแปรปรวนของสภาพอากาศเป็นสำคัญ"
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมีนาคม 2568 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคพบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมีนาคม 2568 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่ยังมีทิศทางดีขึ้นในภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจในภาคบริการและการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ควรติดตามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์สงครามการค้า และความแปรปรวนของสภาพอากาศเป็นสำคัญ" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 77.2 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น การส่งออกมีทิศทางขยายตัว และภาคการก่อสร้างที่คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากเงินลงทุนภาครัฐที่ทยอยเบิกจ่ายในช่วงก่อนสิ้นปีงบประมาณ อีกทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของทะเลฝั่งตะวันออกหรือฝั่งอ่าวไทย อีกทั้งหลายภาคส่วนยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 75.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคบริการและภาคเกษตร อาทิ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสนับสนุนการท่องเที่ยว การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตร และการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในปีนี้รัฐบาลประกาศให้เป็นปี Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025 รวมถึงการเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ ประกอบกับอุปสงค์สินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในกลุ่มอาหารสด อาหารแห้ง อาหารแปรรูป และผลไม้ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ระดับ 76.7 ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 73.7 สะท้อนความเชื่อมั่นที่ดี โดยเฉพาะในภาคบริการและภาคเกษตร จากการดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับสูง และภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 73.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยคาดว่า ภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในเกณฑ์ดีที่ระดับ 70.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นในภาคบริการและภาคเกษตร ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ขณะเดียวกันการเข้าสู่ฤดูฝน จะช่วยให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพอากาศและต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลชะลอลงมาอยู่ที่ระดับ 69.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและนโยบายภาครัฐในการรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น และสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางชะลอลงมาอยู่ที่ระดับ 68.3 โดยมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มของภาคเกษตรและภาคบริการ จากปัจจัยสนับสนุนด้านนโยบาย การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การวางแผนการผลิตอย่างเหมาะสมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ ควรต้องติดตามสถานการณ์ด้านสภาพอากาศที่แปรปรวน การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ระดับต้นทุนการผลิต รวมถึงการระบาดของโรคพืชและสัตว์เป็นสำคัญ
.jpg)
ข่าวเด่น