เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ "ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ สร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านเศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญแรงกดดันจากภายในและภายนอก"


สหรัฐฯ


นโยบายภาษีการค้ายังคงสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ในเดือนมิถุนายน การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 147,000 ตำแหน่ง จากเดือนก่อนที่ 144,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงจากเดือนก่อนที่ 4.2% สู่ระดับ 4.1% นอกจากนี้ ทรัมป์เผยว่ารัฐบาลจะเริ่มส่งจดหมายถึงประเทศคู่ค้าเพื่อแจ้งละเอียดอัตราภาษีศุลกากรแบบฝ่ายเดียว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป 

แม้จะมีการผ่านร่างกฎหมาย Big Beautiful Bill แต่คาดว่าผู้มีรายได้สูงจะได้ประโยชน์ ส่วนผู้มีรายได้น้อยจะถูกตัดสวัสดิการทางสังคม ผลบวกต่อเศรษฐกิจจึงค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ แม้ตัวเลขการจ้างงานดีกว่าที่ตลาดคาด แต่การชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการค้า ภาวะทางการเงินที่ยังตึงตัว รวมถึงอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชน (delinquency rate) ที่ในระดับสูง คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 2-3 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 
ยูโรโซน 

เงินเฟ้อยูโรโซนอยู่ใกล้เป้าหมายที่ 2% ภายใต้เศรษฐกิจที่โตต่ำ ในเดือนมิถุนายน ดัชนี PMI ภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 49.5 จากเดือนก่อนที่ 49.4 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นอยู่ที่ 2.0% YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเบื้องต้นยังทรงตัวจากเดือนก่อนที่ 2.3%

แม้ว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจยูโรโซนจะเผชิญกับภาวะหดตัวหรือถดถอย (recession) ยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง หลังจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ทยอยลดลง แต่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ 0.6% QoQ จากผลกระทบของนโยบายภาษีการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ยังสูง รวมถึงแรงกดดันภายในที่มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และภาระหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ จากเศรษฐกิจที่คาดโตต่ำต่อเนื่องและเงินเฟ้อที่อยู่ใกล้เป้าหมาย 2% วิจัยกรุงศรีคาดว่า ECB มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้

 
 
จีน
 
ภาคการผลิตจีนปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกินต่อเนื่อง ทางการ (NBS) รายงาน PMI ภาคการผลิต ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ และดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกในเดือนมิถุนายนขยับขึ้นเป็นเดือนที่ 2 หลังหดตัวแรงในเดือนเมษายน ส่วน PMI นอกภาคการผลิตดีขึ้นเล็กน้อย (ดังรูป) อีกด้านหนึ่งรัฐบาลเตรียมออกมาตรการเพิ่มอัตราการเกิด ผ่านการให้เงินอุดหนุนจำนวน 503 ดอลลาร์ต่อเด็กหนึ่งคนต่อปีจนถึงอายุ 3 ปี

ตัวเลข PMI ล่าสุดของทางการสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวในภาคการผลิตภายหลังจีนและสหรัฐฯ มีข้อตกลงชั่วคราวในการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตของจีนยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกินอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากกำไรภาคอุตสาหกรรมซึ่งหดตัวที่ -9.1% YoY ในเดือนพฤษภาคม และ -1.1% ในช่วง 5 เดือนแรก ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวติดต่อกันนานกว่า 30 เดือน นอกจากนี้ ภาคการส่งออกยังเสี่ยงมากขึ้น หลังสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับเวียดนาม โดยเฉพาะการเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 40% สำหรับสินค้าจากประเทศที่สามที่ใช้เวียดนามเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ ดังนั้น ท่ามกลางแรงกดดันจากภายในและสงครามการค้า เศรษฐกิจจีนช่วงครึ่งปีหลังจึงมีแนวโน้มอ่อนแอลงหากไร้มาตรการกระตุ้นเพิ่ม

 

เศรษฐกิจไทย
 
เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจน จากแรงส่งในหลายภาคส่วนมีแนวโน้มแผ่วลง

เศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมชะลอลงจากการผลิตภาค อุตสาหกรรม การลงทุน และภาคท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคทรงตัว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง (-0.6% MoM sa) โดยเฉพาะการผลิตในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลงหลังเร่งผลิตไปก่อนหน้า เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง (-0.6%) จากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ ส่วนภาคท่องเที่ยวชะลอลงทั้งรายรับ (-7.0%) และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ (-2.9%) ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว (+0.2%) และมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (+8.6%) 

เครื่องชี้เศรษฐกิจที่ชะลอลงในหลายภาคส่วนสะท้อนแรงส่งการเติบโตที่แผ่วลง ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากหลายปัจจัย แม้จะได้รับแรงสนับสนุนบางส่วนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดกลางและเล็ก และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเผชิญแรงกดดันที่มากขึ้นจาก (i) ภาคส่งออกและการลงทุนที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ (Reciprocal tariff)  ซึ่งการเจรจายังไม่มีความคืบหน้าและมีความเสี่ยงที่จะไม่ทันกำหนดในวันที่ 9 กรกฏาคมนี้ (ii) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนบั่นทอนความเชื่อมั่นและอาจกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงการเจรจาทางการค้า และ (iii) ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นข้อจำกัดด้านการบริโภคภาคเอกชนภายใต้ภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะมีการขยายมาตรการบรรเทาในโครงการคุณสู้ เราช่วย ก็ตาม ทั้งนี้ ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางมากขึ้นและแรงส่งการเติบโตที่มีแนวโน้มชะลอลงชัดเจน จึงอาจหนุนให้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลัง
 
 
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ทั้งจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวลง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าคาด ในเดือนมิถุนายนมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยทั้งสิ้น 2.32 ล้านคน หดตัว -15.2% YoY เทียบกับ 2.27 ล้านคน ในเดือนพฤษภาคม สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ 98.9 พันล้านบาท ลดลง -20.3% ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ มาเลเซีย จีน อินเดีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 16.69 ล้านคน ลดลง -4.7% YoY สร้างรายได้ 7.72 แสนล้านบาท ลดลง -2.3%   
 
ข้อมูลในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 สะท้อนว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยยังไม่สามารถกลับเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัว เนื่องจากเผชิญแรงกดดันจากหลายปัจจัยสำคัญ (i) การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่ล่าช้า โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยลดลงถึง -34.1% YoY เหลือเพียง 2.27 ล้านคน หรือคิดเป็นเพียง 40.1% ของระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2562 (ii) เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของนัก ท่องเที่ยวในหลายประเทศ (iii) การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปี แตกต่างจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย ทั้งนี้ จากสัญญาณที่แสดงถึงการฟื้นตัวอย่างช้าๆของภาคท่องเที่ยว วิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2568 มีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 36.5 ล้านคน
 
 

LastUpdate 08/07/2568 12:20:05 โดย : Admin
08-07-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (8 ก.ค.68) ลบ 7.35 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,115.65 จุด

2. MTS Gold คาดว่าจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 3,300 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,350 เหรียญ ยังคงแนะนำให้ทำกำไรในกรอบแคบ

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (8 ก.ค.68) ลบ 4.53 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,118.47 จุด

4. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (7 ก.ค.68) ลบ 10 เซนต์ เหตุดอลลาร์แข็งค่า

5. พยากรณ์อากาศวันนี้ (8 ก.ค.68) "กรุงเทพปริมณฑล-ภาคเหนือ-ภาคอีสาน-ภาคตะวันออก" ฝนตกหนัก 70% ภาคกลาง 60% ภาคใต้ 60-70%

6. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (7 ก.ค.68) ร่วง 422.17 จุด หลังทรัมป์ประกาศ 14 ประเทศจะถูกเรียกเก็บภาษีตั้งแต่ 1 ส.ค.

7. ทองเปิดตลาดวันนี้ (8 ก.ค. 68) ปรับขึ้น 250 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 52,100 บาท

8. ตลาดหุ้นไทยเปิด (8 ก.ค. 68) ลบ 12.22 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,110.78 จุด

9. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.45-32.70 บาท/ดอลลาร์

10. ตลาดหุ้นปิด (7 ก.ค.2568) บวก 3.06 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,123.00 จุด

11. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (7 ก.ค.68) ลบ 8.48 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,111.46 จุด

12. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 3,300 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,340 เหรียญ

13. กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 32.10-32.75 จับตาภาษีทรัมป์

14. พยากรณ์อากาศวันนี้ (7 ก.ค.68) ฝนตกหนักในภาคเหนือ-ภาคอีสาน-ภาคตะวันออก 70% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคกลาง 60% ภาคใต้ 40-60%

15. ทองเปิดตลาดวันนี้ (7 ก.ค. 68) ปรับลดลง 150 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 51,800 บาท

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 8, 2025, 6:16 pm