เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ "แนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำตาล"


 
SCB EIC คาดว่า รายได้อุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว แม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากราคาส่งออกที่ลดลง แต่ปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากกลายเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยพยุงรายได้ของอุตสาหกรรมโดยรวม ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2024/2025 แล้ว โดยผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น 14.4% จากปีการผลิต 2023/2024 มาอยู่ที่ 10.1 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92.0 ล้านตัน จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย อย่างไรก็ดี แม้ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 2025 กลับมีแนวโน้มปรับตัวลดลงราว -11.2%YOY สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออกรวมพรีเมียมที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ (ใช้อ้างอิงราคาของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีการผลิตที่ผ่านมา ตามราคาน้ำตาลโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ ซึ่งส่งผลให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจะกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลโลก ทั้งนี้แม้ว่าราคาจะปรับตัวลดลง แต่มูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 2025 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 34.3%YOY สะท้อนได้จากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการส่งออกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 27.5%YOY แม้ว่าราคาส่งออกปรับตัวลดลง -16.7%YOY แต่ยังส่งผลให้มูลค่าส่งออกน้ำตาลโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3%YOY และคาดว่าในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี มูลค่าการส่งออกจะเติบโตเร่งขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลในประเทศเป็นจำนวนมากที่ยังรอการส่งออก ประกอบกับสัดส่วนการส่งออกน้ำตาลทรายขาวที่ราคาสูงกว่าน้ำตาลทรายดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงน้อยกว่าช่วง 5 เดือนแรก  อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลโลก ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่จะกระทบต่อผลผลิตน้ำตาล และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันโลก ซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำตาลโลก 

อนึ่ง กำไรของธุรกิจโรงงานน้ำตาลโดยรวมในปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีกำลังการผลิตมากกว่าปริมาณอ้อยในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจะต้องแข่งขันกันจัดหาอ้อยมาป้อนโรงงานให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลง ซึ่งปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นในปีการผลิต 2024/2025 จะส่งผลให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้สูงขึ้น ส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการในปี 2025 ทั้งนี้นอกจากการจัดหาวัตถุดิบแล้ว โรงงานน้ำตาลยังมีการแข่งขันกัน  ด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ การยกระดับและพัฒนาคุณภาพสินค้า และการมุ่งสู่ความยั่งยืน ดังนั้น กลุ่มบริษัทที่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร สร้างแบรนด์ มีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลสูง มีสินค้าที่ตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้

Industry overview
 
อุตสาหกรรมน้ำตาลมีผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลายและอยู่ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดโดยภาครัฐ ทั้งนี้ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายหลักที่อุตสาหกรรมน้ำตาลต้องเผชิญในช่วงที่ผ่านมา  
อุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย โดยอุตสาหกรรมนี้มีความเชื่อมโยงกับเกษตรกรต้นน้ำในระดับสูง เนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยที่เกษตรกรปลูกได้ จะกระทบโดยตรงต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่โรงงานผลิตได้ โดยผลผลิตน้ำตาลที่ได้ส่วนใหญ่ราว 68.1% จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งในปี 2024 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลอยู่ที่ 2,382 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นราว 0.8% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยตลาดส่งออกหลัก คือ อินโดนีเซีย, กัมพูชา และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ในปี 2024 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากบราซิล) โดยมีส่วนแบ่งตลาดน้ำตาลโลกอยู่ที่ 6.2%  ซึ่งอินโดนีเซีย, สหรัฐฯ และจีน เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำตาลมากที่สุด 3 อันดับแรกของโลก (ดูภาคผนวก)  สำหรับน้ำตาลที่ไม่ได้ส่งออกจะถูกจำหน่ายในประเทศให้ผู้บริโภคภาคครัวเรือนและผู้ผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในปี 2024 มูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศอยู่ที่ 55,229 ล้านบาท ซึ่งมูลค่านี้ยังไม่รวมมูลค่าตลาดจากการที่โรงงานน้ำตาลนำผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่น ๆ (รูป 1)
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 
 
อุตสาหกรรมน้ำตาลแตกต่างจากอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรอื่น ๆ ในไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการกำหนดกรอบกติกาการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนที่ผู้เล่นต้องปฏิบัติตาม ผ่าน พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) ปี 2022 ซึ่งกำหนดให้ภาครัฐมีอำนาจควบคุมจำนวนโรงงานน้ำตาลในประเทศให้เหมาะสมต่อปริมาณการปลูกอ้อย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อย (70%) และโรงงาน (30%) เพื่อใช้เป็นกลไกอ้างอิงในการคำนวณและกำหนดราคาอ้อยที่โรงงานรับซื้อจากชาวไร่อ้อยในแต่ละปี ยิ่งไปกว่านั้น โรงงานน้ำตาลไม่สามารถตั้งราคาน้ำตาลหน้าโรงงานได้อย่างเสรี แต่ต้องขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาโดยภาครัฐ
 
ในระยะ 1-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมน้ำตาลต้องเผชิญกับความท้าทายหลักจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน โดยในปีการผลิต 2023/2024 ปริมาณผลผลิตน้ำตาลปรับตัวลดลง 20.1% จากฤดูกาลก่อนหน้า เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยในไทยเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรง ประกอบกับชาวไร่อ้อยบางส่วนหันไปปลูกมันสำปะหลัง จากราคามันสำปะหลังที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงปี 2022 - 2023 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่ลดลงส่งผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจน้ำตาลโดยรวมไม่มากนัก เนื่องจากราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำตาลทรายดิบส่งออกที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ในปี 2023/2024 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.9% จากฤดูกาลก่อนหน้า นอกจากนี้ นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2023 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีอนุญาตให้ปรับราคาน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานในประเทศขึ้น 10.5% และ 10.0% ตามลำดับ 
 
Industry outlook and trend
 
SCB EIC คาดว่ารายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว โดยมีปัจจัยหนุนจากปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งช่วยหักล้างผลของราคาที่มีแนวโน้มลดลง โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ปิดหีบอ้อยปีการผลิต 2024/2025 แล้ว เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น 14.4% จากปีการผลิต 2023/2024 มาอยู่ที่ 10.1 ล้านตัน ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92.0 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตต่อไร่และพื้นที่เพาะปลูกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย (รูปที่ 2) ในขณะที่ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 11.2%YOY มาอยู่ที่ 513.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน สอดคล้องกับราคาน้ำตาลทรายดิบรวมพรีเมียมที่บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยทำได้ (ใช้อ้างอิงราคาส่งออกของโรงงานน้ำตาลอื่น ๆ) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 15.9% จากฤดูกาลการผลิตที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 19.9 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากแม้องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศจะคาดว่า ตลาดน้ำตาลโลกจะเผชิญภาวะขาดดุลในปีการผลิต 2024/2025 แต่ราคาน้ำตาลโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ จากการที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลก (รูปที่ 3) นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในปี 2025 ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกดดันให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลง 
 
สำหรับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปี 2025 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 34.3%YOY มาอยู่ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปริมาณการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 51.2%YOY มาอยู่ที่ 6.2 ล้านตัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ แม้ว่าราคาส่งออกจะปรับตัวลดลง -16.7%YOY แต่ปริมาณการส่งออกน้ำตาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 27.5%YOY  ส่งผลให้มูลค่าส่งออกน้ำตาลโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3%YOY และคาดว่าในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปี มูลค่าการส่งออกจะเติบโตเร่งขึ้น เนื่องจาก 1) ปริมาณน้ำตาลที่รอการส่งออก (ปริมาณผลผลิตลบปริมาณการบริโภคในประเทศและปริมาณการส่งออกใน 5 เดือนแรก) ยังเหลืออยู่ในประเทศราว 4.6 ล้านตัน โดยปริมาณน้ำตาลเหล่านี้จะสามารถส่งออกได้ทั้งหมด เนื่องจากองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ คาดว่า ในปีการผลิต 2024/2025 ภูมิภาคเอเชียจะมีความต้องการนำเข้าน้ำตาลทั้งหมด 26.4 ล้านตัน  และ 2) สัดส่วนการส่งออกน้ำตาลทรายขาวที่ราคาสูงกว่าน้ำตาลทรายดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะช่วยให้ราคาส่งออกน้ำตาลโดยเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนที่เหลือ ปรับตัวลดลงน้อยกว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี สำหรับมูลค่าตลาดน้ำตาลในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 1.3%YOY จากปริมาณการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย  
 
 
 
 
 
อนึ่ง การเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2025 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว และความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยภาวะเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคน้ำตาลโลก ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากผลกระทบของนโยบายภาษีทรัมป์ที่รุนแรงกว่าคาด ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลโลกเติบโตต่ำกว่าที่ประเมิน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาส่งออกน้ำตาลลดลงมากกว่าคาดการณ์ ในขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอ้อยในต่างประเทศ โดยหากบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก เผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงน้อยกว่าที่คาด ก็จะทำให้ราคาส่งออกน้ำตาลปรับตัวลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมน้ำตาลยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ที่อาจจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำตาลในตลาดโลก และทำให้ราคาส่งออกน้ำตาลไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่าคาด 
 
ในระยะต่อไป อุตสาหกรรมน้ำตาลยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ กระแสความยั่งยืนและเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภค โดยมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการการค้าระหว่างประเทศ การเก็บภาษีคาร์บอน จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่เมกะเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้ผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้นในอนาคต ส่วนกระแสรักสุขภาพ จะส่งผลให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจการรักษาสุขภาพ หันมาบริโภคสินค้าที่ปราศจากน้ำตาลมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลปรับตัวลดลง 
 
Competitive landscape
 
โรงงานน้ำตาลจะเน้นการแข่งขันในด้านการจัดหาอ้อยเป็นหลัก โดยปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การแข่งขันระหว่างโรงงานต่าง ๆ ลดลง ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการ 
 
อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดในระดับสูง ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดกระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย ทั้งนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลยังถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากภาครัฐ โดยผู้ที่จะสามารถดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายได้ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยภาครัฐ เช่น จุดที่ตั้งโรงงานต้องห่างจากโรงงานน้ำตาลที่ได้รับใบอนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร หรือต้องมีการเตรียมปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิต ส่งผลให้การเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่เป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ การเข้ามาประกอบธุรกิจน้ำตาลในไทยของบุคคลต่างด้าวก็จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและการนำเข้าน้ำตาลจะต้องได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องเผชิญการแข่งขันทั้งจากผู้เล่นต่างชาติและผู้เล่นรายใหม่ โดยในปีการผลิต 2023/2024 มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบผลิตน้ำตาลจำนวน 57 โรงงาน (ปีการผลิต 2024/2025 จะมีโรงงานเปิดเพิ่มอีก 1 โรงงาน) โดยกว่า 75% ของโรงงานทั้งหมดหรือ 43 โรงงานอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ 13 กลุ่มบริษัท ในขณะที่อีก 14 โรงงานเป็นโรงงานอิสระ ซึ่งในปีการผลิต 2023/2024 กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ 5 อันดับแรกครองส่วนแบ่งตลาดปริมาณการผลิตน้ำตาลรวมกันสูงถึงราว 54% โดยกลุ่มมิตรผลมีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 1 (23.9%), ตามมาด้วยกลุ่มไทยรุ่งเรือง (9.1%),  โคราช (8.9%), ท่ามะกาหรือ KSL (6.4%) และไทยเอกลักษณ์หรือ KTIS (5.8%) ในขณะที่น้ำตาลครบุรี (KBS) และน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) มีส่วนแบ่งตลาด 4.6% และ 3.1% ตามลำดับ 
 
โรงงานน้ำตาลจะเน้นการแข่งขันในด้านการจัดหาวัตถุดิบอ้อยเป็นหลัก โดยปริมาณอ้อยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้สูงขึ้น ส่งผลดีต่อกำไรของผู้ประกอบการในปี 2025 ในปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีกำลังการผลิตมากกว่าปริมาณอ้อยในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันจัดหาอ้อยมาป้อนโรงงานให้ได้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยลง โดยความรุนแรงในการจัดหาอ้อยจะขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตอ้อยในแต่ละปี ซึ่งในปีการผลิตที่ผ่านมาปริมาณอ้อยปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ส่งผลให้การแข่งขันมีความรุนแรง ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ผู้ประกอบการใช้ในการจัดหาอ้อย (นอกจากการทำสัญญาซื้อขายอ้อยล่วงหน้ากับชาวไร่อ้อย) คือ การให้ราคารับซื้ออ้อยที่สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ถูกกำหนด โดยแนวทางดังกล่าวประกอบกับผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้ที่ลดลง จะมีส่วนทำให้กำไรของโรงงานน้ำตาลปรับตัวลดลง ซึ่งจากข้อมูลของผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลในตลาดหลักทรัพย์ (ตารางที่ 1) พบว่า ในปี 2024 กำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิของผู้ประกอบการลดลง 40.6%YOY และ 2.4 percentage points ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นในปีการผลิต 2024/2025 จะทำให้การแข่งขันลดลง ผลผลิตน้ำตาลและผลพลอยได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนทำให้กำไรโดยรวมของผู้ประกอบการน้ำตาลในปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 
 
                                                      
อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดยังมีการแข่งขันในด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ การยกระดับคุณภาพสินค้า การพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพ เช่น น้ำตาลแคลอรีต่ำ และการมุ่งสู่ความยั่งยืน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและงดรับซื้ออ้อยไฟไหม้ ดังนั้น กลุ่มบริษัทที่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร สร้างแบรนด์ มีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลสูง มีคุณภาพสินค้าที่ดีและตอบโจทย์ผู้บริโภค และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้

ภาคผนวก
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Trademap 

 
ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี 
นักวิเคราะห์อาวุโส  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ค. 2568 เวลา : 15:59:56
16-07-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (16 ก.ค.68) บวก 0.24 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,161.25 จุด

2. MTS Gold คาดราคาทองคำกลับเข้าสู่แนวโน้ม Sideways อีกครั้ง โดยมีกรอบแนวรับอยู่ที่ระดับ 3,320 เหรียญ และแนวต้านอยู่ที่ระดับ 3,350 เหรียญ

3. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (15 ก.ค.68) ร่วง 436.36 จุด เหตุดัชนี CPI สูงเกินคาด

4. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (15 ก.ค.68) ร่วง 22.4 เหรียญ เหตุเงินเฟ้อสูงหนุนเฟดตรึงดอกเบี้ยสูงต่อไป

5. พยากรณ์อากาศวันนี้ (16 ก.ค.68) ฝนตกหนักในภาคเหนือ 80% ภาคอีสาน-ภาคใต้ ฝั่งตต. 70% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคตะวันออก 60% ภาคกลาง-ภาคใต้ ฝั่งตอ. 40%

6. ตลาดหุ้นไทยเปิดวันนี้ (16 ก.ค. 68) ลบ 2.53 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,158.48 จุด

7. ทองเปิดตลาดวันนี้ (16 ก.ค. 68) ร่วงลง 250 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 52,150 บาท

8. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.40-32.65 บาท/ดอลลาร์

9. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (16 ก.ค.68) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 32.58 บาทต่อดอลลาร์

10. ตลาดหุ้นปิด (15 ก.ค.68) บวก 17.70 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,161.01 จุด

11. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (15 ก.ค.68) บวก 5.91 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,149.22 จุด

12. MTS Gold คาดราคาทองมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 3,325 เหรียญ และมีแนวต้านอยู่ที่ระดับ 3,370 เหรียญ

13. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (14 ก.ค.68) ร่วง 4.9 เหรียญ นักลงทุนขายทองทำกำไรหลังราคาพุ่ง

14. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (14 ก.ค.68) บวก 88.14 จุด นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย หลังทรัมป์ประกาศรีดภาษี EU และเม็กซิโก

15. พยากรณ์อากาศวันนี้ (15 ก.ค.68) "กรุงเทพปริมณฑล-ภาคเหนือ-ภาคอีสาน-ภาคตะวันออก" ฝนฟ้าคะนอง 60% ภาคกลาง 40% ภาคใต้ 40-60%

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 16, 2025, 3:29 pm