ทีมงานผมได้ส่งข้อเขียนท่านอาจารย์ ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ มาให้ผมได้อ่าน เมื่อผมได้อ่านแล้วมีความรู้สึกว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงวิชาการ ท่านได้ให้ความเป็นห่วง “บ้านเมือง”แบบที่ไม่สนใจการเมืองที่กำลังเป็นประเด็น
ประเด็นที่สำคัญของท่านอาจารย์พาดหัวในข้อเขียนคือ “เหมือนมีลางบอก...ถึงอันตราย” ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับกระบวนการวิเคราะห์สินเชื่อ เช่น นายธนาคารใหญ่ของค่ายหนึ่งออกมาบอกว่า ตอนนี้คนที่เงินเดือนน้อยกว่า 2 หมื่นบาท เป็นหนี้ค่อนข้างมาก การยื่นขอกู้เงินธนาคารในเวลานี้ผ่านได้ยากเพราะเหตุว่าเอาเงินไปลงทุนซื้อรถยนต์โดยใช้วิธีการเช่าซื้อ หรือลีสซิ่ง เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อมาเพิ่งมารู้ว่า การมีรถยนต์มันได้สร้างภาระรายจ่ายที่หนักหนากว่าที่คิดที่เตรียมไว้ ไม่ใช่เฉพาะเงินดาวน์เท่านั้น การผ่อนรายเดือนที่เรียกว่าค่างวดรถยนต์ กับค่าน้ำมันที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นนั้น ทำให้ขีดความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มหรือก่อหนี้ก้อนใหม่ทำได้ยากมากขึ้น
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เผยแพร่ออกมาระบุว่า ประเด็นที่หนึ่ง มาตรฐานการให้สินเชื่อภาคครัวเรือนช่วงไตรมาส 2 ปี 2556 พบว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่เพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ
และประการสำคัญต่อมา จากการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของธนาคาพาณิชย์และบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (ที่เรียกว่า Non Bank) ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2556 นี้ สถาบันการเงินมีแนวโน้มจะเพิ่มความเข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนทุกประเภท ตามความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังมีแนวโน้มเพิ่มความเข้มงวด ในการให้สินเชื่อต่อเนื่องสำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับคุณภาพสินเชื่อ (หมายความว่ากลัวว่าปล่อยกู้ไปแล้วจะเกิดปัญหาหนี้ค้างชำระ เพราะที่ปล่อยไปแล้วในปัจจุบันอาจมีข้อมูลว่ามีการค้าชำระมากขึ้น ตลอดจนภาวะปัจจัยทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงพอสมควร) ในขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดใหญ่คาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบัน
ในรายงานแนวโน้มความต้องการสินเชื่อช่วงไตรมาส 3 ปี 2556 นี้ ระบุรายละเอียดคาดว่าความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนทุกประเภทจะทรงตัวจากปัจจุบัน (คือหมายความว่าจะไม่ได้มีความต้องการมากแบบกระโดดขึ้นมาเป็น 30-40% เช่นที่ผ่านมานั้น สะท้อนแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวต่อเนื่อง) ขณะที่ความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจที่มาจากฝั่ง SME หรือธุรกิจขนาดใหญ่จะขยายตัวได้เล็กน้อยจากปัจจุบัน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ธุรกิจการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ การขนส่งและคลังสินค้า และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับการสำรวจของ ธปท. ในรอบนี้ เป็นการสำรวจประจำไตรมาส 2 ปี 2556 โดยมีธนาคารที่ร่วมตอบแบบสำรวจ จำนวน 26 แห่ง และ Non Bank อีก 22 แห่ง ครอบคลุมสินเชื่อประมาณ 98.9% ของทั้งระบบ
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น