เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC มอง กนง. จะลดดอกเบี้ยในปีนี้ 2 ครั้ง ตั้งแต่การประชุมรอบ มิ.ย.


กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% โดยกรรมการเสียงส่วนใหญ่ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน พร้อมระบุความกังวลหนี้ครัวเรือนสูง และให้ความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ขณะที่กรรมการเสียงส่วนน้อยเห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้นและจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง 

กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อนที่ 2.6 % และ 3.0 % ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ โดยระบุชัดว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ลดลงช่วงหลังวิกฤต COVID-19 สำหรับด้านเงินเฟ้อ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ตามราคาอาหารสดที่ปรับลดลงและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ (รูปที่ 1) โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นกลับเข้ากรอบเป้าหมายภายในปลายปีนี้ นอกจากนี้ กนง. มองภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว แต่ธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนรายได้น้อยบางส่วนเผชิญกับภาวะการเงินตึงตัว ในระยะข้างหน้า กนง. เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังเป็นประเด็นต้องติดตาม
 
รูปที่ 1 : อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากราคาอาหารสดบางกลุ่มและพลังงาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลผลิตออกมามากและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

 
IMPLICATIONS 

SCB EIC ยังคาดว่า กนง. จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แม้รอบการประชุมนี้ กนง. จะยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% แต่การมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ติดต่อกันอีกครั้งหนึ่งยังเป็นการส่งสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า หากพิจารณาผลการประชุมในอดีตพบว่า กนง. มักจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ต่อเนื่องหลายครั้งเพื่อส่งสัญญาณต่อตลาดการเงินก่อนจะเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ย (รูปที่ 2) โดยในการประชุมครั้งนี้ กนง. ยังสื่อสารเน้นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำลง โดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการผลิตที่เผชิญความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด ประกอบกับกรรมการเสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างดังกล่าวและจะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้ด้วย

รูปที่ 2 : ผลการประชุม กนง. ในอดีตก่อนมีการปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ย

 
มุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะสั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากครั้งก่อนมากนัก อย่างไรก็ดี กรรมการเสียงส่วนน้อยได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมในการลดดอกเบี้ยจากรอบก่อนว่า “จะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง” ดังนั้น SCB EIC จึงประเมินว่า กนง. มีแนวโน้มใช้ผลการ “Recalibrate” นโยบายการเงิน โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อรักษาสถานะความเป็นกลางของนโยบายการเงิน (Neutral stance) กล่าวคือ เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะไม่กระตุ้นหรือฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจจากระดับศักยภาพที่ประเมินใหม่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่สูงกว่าระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ปรับลดลง ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินระดับของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว (Neutral rate) สำหรับเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 2.13% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในปัจจุบันหากประเมินด้วยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ใน 1 ปีข้างหน้ากำลังจะเข้าสู่ระดับที่สูงกว่าในอดีตแล้ว เป็นสัญญาณสะท้อนถึงความตึงตัวของนโยบายการเงิน (รูปที่ 3) 

ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะสั้นคาดว่าจะมีผลไม่มากนักต่อการตัดสินใจของ กนง. เนื่องจาก กนง. มองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำในช่วงหลัง COVID-19 อีกทั้ง ยังมองว่าข้อมูลเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนความอ่อนแอของอุปสงค์ในประเทศ และเงินเฟ้อจะทยอยกลับเข้ากรอบได้ช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี ในการประชุมรอบนี้มีข้อสังเกตว่า กนง. ให้น้ำหนักกับเสถียรภาพระบบการเงินในประเด็นความกังวลต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง (รูป 4) โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำจะเพิ่มความเปราะบางของเศรษฐกิจในระยะยาวจากการกระตุ้นยอดคงค้างหนี้ แม้จะช่วยลดภาระหนี้ในระยะสั้น นอกจากนี้ ยังระบุถึงความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการระบุว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของธุรกิจและครัวเรือนบางกลุ่มที่กำลังเผชิญภาวะการเงินตึงตัวในขณะนี้ จึงสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ด้านอื่นในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending)


โดยสรุป SCB EIC ประเมินว่า มติ กนง. ที่ไม่เป็นเอกฉันท์ต่อเนื่องในรอบนี้และศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่ลดลง ทำให้ประเมินว่า กนง. จะยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ 2 ครั้งตามที่ประเมินไว้รอบก่อน เพื่อรักษาสถานะความเป็นกลางของนโยบายการเงิน โดยจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. และต่อเนื่องในเดือน ส.ค. สู่ระดับ 2% 
 
รูปที่ 3 : อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยกำลังเข้าสู่ระดับที่สูงกว่าในอดีต

 
รูปที่ 4 : หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูง
 
 
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/policy-rate-100424

ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
ดร.ฐิติมา ชูเชิด (thitima.chucherd@scb.co.th) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค
 
 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th)  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 เม.ย. 2567 เวลา : 11:14:33
27-07-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (26 ก.ค.67) บวก 15.63 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,307.21 จุด

2. ประกาศ กปน.: ด่วน!!! คืนวันพรุ่งนี้ 27 ก.ค. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำลาดพร้าว

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (26 ก.ค.67) บวก 8.27 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,299.85 จุด

4. MTS Gold คาดจะมีกรอบแนวรับ 2,380 เหรียญ และแนวต้าน 2,420 เหรียญ

5. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.15-36.40 บาท/ดอลลาร์

6. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (25 ก.ค.67) ร่วง 62.20 เหรียญ นักลงทุนเทขายทำกำไรหลังราคาพุ่งขึ้น

7. ตลาดหุ้นไทยเปิด (26 ก.ค.67) บวก 0.32 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,291.90 จุด

8. ดัชนีดาวโจนส์ ปิดเมื่อคืน (25 ก.ค.67) บวก 81.20 จุด ขานรับ GDP สหรัฐโตเกินคาด

9. ทองเปิดตลาด (26 ก.ค. 67) ลดลง 50 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 41,150 บาท

10. มรสุมกำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลฝนฟ้าคะนอง กรุงเทพปริมณฑล-ภาคตะวันออก 70% ภาคเหนือ-ภาคอีสาน-ภาคกลาง 60% ภาคใต้ 30%

11. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (26 ก.ค.67) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์

12. ประกาศ กปน.: 31 ก.ค. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนเพชรบุรี

13. ตลาดหุ้นปิด (25 ก.ค.67) ลบ 6.50 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,291.58 จุด

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (25 ก.ค.67) ลบ 5.36 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,292.72 จุด

15. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 2,350 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,400 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 27, 2024, 9:28 am