
ราคาของ Bitcoin ในช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมานี้ เรียกได้ว่ามีการปรับฐานลงมาจนเสียฐานราคาเดิมในระดับ 90,000 ดอลลาร์สหรัฐไป และลงมาแตะจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่มีการซื้อขายหลุดหลัก 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะมีการทรงตัวต้อนรับเดือนมี.ค.ที่ประมาณ 86,000 ดอลลาร์สหรัฐ ณ ปัจจุบัน โดยเป็นผลมาจากการที่ตลาดขาดความเชื่อมั่น และสถานการณ์เศรษฐกิจระดับมหภาค ที่นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐนั้นยังไม่สู้ดีนักจากความไม่แน่นอนของนโยบายในยุค Trump 2.0
ดัชนี Bitcoin Fear& Greed Index
การลดลงของมูลค่า Bitcoin ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ในตลาดผ่านดัชนี Bitcoin Fear& Greed Index ที่ได้แสดงค่าล่าสุดอยู่ที่ 26 หรืออยู่ในสภาวะของความกลัวและลงทุนอย่างมีความระมัดระวัง ซึ่งสะท้อนออกมาจากสภาวะของเศรษฐกิจที่มีความอ่อนแอ โดยเฉพาะจากทางสหรัฐ ที่ทั้งจากรายงานความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของคณะกรรมการการประชุม (CB Consumer Confidence) ลดลงล่าสุดอยู่ที่ 98.3 จากครั้งก่อนที่ระดับ 105.3 ส่วนตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarms Payrolls) ของสหรัฐ ลดต่ำลง จาก 3.07 แสนตำแหน่ง เหลือ 1.43 แสนตำแหน่ง นอกจากนี้ รายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงาน (Initial Jobless Claims) ของสหรัฐรายสัปดาห์ล่าสุด ณ วันที่ 27 ก.พ. 2568 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 2.42 แสนคน จากสัปดาห์ก่อน 2.20 แสนคน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ย่ำแย่กว่าการคาดการณ์ทั้งสิ้น
และที่สำคัญจากการขึ้นมาเป็นผู้นำของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ด้วยนโยบายที่ยังมีความคลุมเครือ โดยเฉพาะนโยบายภาษีที่มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีความเข้มงวดมากขึ้น จากที่ล่าสุดทรัมป์ได้เริ่มใช้มาตรการเก็บภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือต่อรองกับประเทศแคนาดาและเม็กซิโก ที่เกือบโดนเก็บภาษีนำเข้า 25% และจีนที่โดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มอีก 10% ซึ่งผลที่ตามมานั้น ก็เริ่มที่จะมีการใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้กันไปมา (Reciprocal Tariffs) จนอาจมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็นสงครามทางการค้า ที่ส่งผลเสียต่อภาคการค้าโลก รวมถึงการพยายามลดการใช้จ่ายสาธารณะ เช่น การเตรียมออกโครงการบัตรทองช่วยสร้างงานและลดหนี้ของประเทศนั้น นับเป็นความกังวลในหมู่นักลงทุนที่อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงในระยะสั้น (เพราะจากที่ผ่านมาสหรัฐมีการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการก่อหนี้สาธารณะกว่าสองทศวรรษจนมีระดับหนี้สาธารณะสูงที่สุดในโลก) นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเงินเฟ้อที่อาจกลับมา จากที่ดัชนีราคาผู้บริโภค CPI สหรัฐ ที่ใช้วัดเงินเฟ้อมีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้น ณ ปัจจุบันที่ 3.0% จากครั้งก่อน 2.9% ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed อาจพิจารณาการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น
ดั้งนั้น จากความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้นักลงทุนในตลาดไม่มีความเชื่อมั่นต่อการลงทุน โดยเฉพาะในสินทรัพย์เสี่ยง อย่าง Bitcoin แต่หันไปเก็บเงินเอาไว้ในรูปแบบของทองคำที่เป็น Store of Value แทน สะท้อนให้เห็นจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเงินถูกถอนออกจากกองทุน Bitcoin Spot ETF ของสหรัฐ มากกว่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Volume การซื้อขายที่ลดต่ำลง
ส่วนในประเด็นที่ว่าทิศทางของราคา Bitcoin จะดำเนินไปอย่างไรต่อนั้น ต้องรอติดตามกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างให้ความคิดเห็นว่า หากราคา Bitcoin สามารถกลับมายืนเหนือระดับ 92,000 ดอลลาร์สหรัฐได้ ก็จะเป็นการยืนยันถึงสถานการณ์ในตอนนี้ว่าเป็นกับดักหมี (Bear Trap) หรือการปรับตัวลงของมูลค่าที่หลอกให้นักลงทุนขายเหรียญหรือซื้อสัญญาฟิวเจอร์ส Short เอาไว้ ก่อนที่ราคาจะดีดกลับไปอย่างรวดเร็ว แต่หากไปทดสอบแนวรับที่ระดับ 64,000 ดอลลาร์สหรัฐ และหลุดต่ำลง (ซึ่งหมายความว่าจุดที่มีแรงเข้าซื้อหนาแน่น ณ ระดับ 60,000 - 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ ก็เอาไม่อยู่) ราคาของ Bitcoin ก็มีความเสี่ยงที่จะตกลงไปสู่ช่วง 55,000 ดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นช่วงของการปรับฐานครั้งใหญ่ที่แท้จริงของสินทรัพย์ในตลาด คริปโตโดยรวม
ข่าวเด่น