กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.25% ตามที่ SCB EIC มองไว้ โดย กนง. เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ขอบล่างของกรอบเป้าหมาย การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงเป็นการรักษา Policy space เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก
สำหรับมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ กนง. คงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 2.7%YOY และ 2.9%YOY ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ แต่มองว่าความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายนอก ทั้งการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและความไม่แน่นอนของแนวนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลัก ขณะที่ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 0.4% และ 1.1% ในปี 2024 และ 2025 ตามลำดับ ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิม ณ เดือนตุลาคมที่ 0.5% และ 1.2%
SCB EIC มองว่าการสื่อสารของ กนง. ครั้งนี้ Hawkish ขึ้นพอสมควรเทียบกับการประชุมครั้งก่อน โดย กนง. ไม่ได้สื่อสารถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม และประเมินว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไม่ได้มาจากปัจจัยเชิงวัฏจักร แต่มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กระทบบางภาคส่วนของเศรษฐกิจ เช่น SMEs และภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่เผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น อาทิ กลุ่มยานยนต์
นอกจากนี้ กนง. ไม่ได้แสดงความกังวลมากนักต่อภาวะสินเชื่อที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา โดยประเมินว่าสาเหตุหลักของการชะลอตัวมาจาก (1) การชำระคืนสินเชื่อจากธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ดี เช่น ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และภาคการค้า (ธุรกิจขนาดใหญ่) และ (2) ความต้องการสินเชื่อธุรกิจชะลอลงจากกลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าหรือฟื้นตัวไม่เต็มที่ เช่น SMEs
ในภาคการค้า ธุรกิจอสังหาฯ ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจยานยนต์ อีกทั้ง กนง. ยังประเมินว่าเศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ แม้สินเชื่อธุรกิจชะลอลง ทั้งนี้ SCB EIC ตั้งข้อสังเกตว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนง. ไม่ได้สื่อสารถึงกระบวนการ Debt deleveraging และความเปราะบางในภาคครัวเรือนมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ธปท. ได้สื่อสารแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในการแถลงข่าวโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
IMPLICATIONS
SCB EIC มองความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้า โดยสถานการณ์ในปัจจุบันอาจยังไม่ได้มีปัจจัยกดดันชัดเจนที่ทำให้ กนง. จำเป็นต้องเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากนัก แต่ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความท้าทายที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากความเปราะบางภายในประเทศเอง และความท้าทายจากปัจจัยภายนอก กล่าวคือ
1) ความเปราะบางจากภายในประเทศ สถานการณ์สินเชื่อชะลอลงเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยในไตรมาส 3/2024 ยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารพาณิชย์หดตัวทุกหมวด (รูปที่ 1) แม้ กนง. จะประเมินว่าสินเชื่อที่ชะลอลงนี้ยังไม่ได้ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากมองในทางกลับกัน ภาวะสินเชื่อชะลอลงเช่นนี้ กำลังสะท้อน “อาการ” ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย โดยในด้านสินเชื่อครัวเรือนที่หดตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เข้มงวด (รูปที่
2) จากความเปราะบางภาคครัวเรือนและรายได้ที่ยังฟื้นตัวช้า ซึ่งจะกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ในด้านสินเชื่อธุรกิจ อาจต้องติดตามว่าความต้องการสินเชื่อที่ลดลงสะท้อนความต้องการลงทุนใหม่ของภาคธุรกิจที่ลดลงเพียงใด โดย SCB EIC มองว่าอาการความเปราะบางของอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มเห็นนี้จะทวีความรุนแรงขึ้น จนทำให้น้ำหนักในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองอุปสงค์ในประเทศของ กนง. เริ่มมีมากขึ้น
2) ความท้าทายจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะนโยบายการค้าของว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump จะทำให้การแข่งขันในภาคการผลิตทั่วโลกรุนแรงขึ้น ยิ่งซ้ำเติมภาคการผลิตของไทยที่มีปัญหาความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว และอาจกดดันให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้าไปอีก
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยได้บ้างภายใต้ความท้าทายที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงต้นปี 2025 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีพัฒนาการสำคัญ 2 ประการ คือ 1) การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมของธนาคารกลางสหรัฐฯ และ 2) นโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ชัดเจนขึ้นหลังจาก Donald Trump สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ (รูปที่ 3) ซึ่งจะทำให้ กนง. ประเมินความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยได้ดีขึ้น พัฒนาการเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไป
SCB EIC จึงประเมินว่าจะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในปีหน้าไปอยู่ที่ 2% ในช่วงต้นปีหน้า เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยที่จะต้องเผชิญกับความเปราะบางจากภายในและความท้าทายจากภายนอกมากขึ้น
รูปที่ 1 : สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์หดตัวลงทุกหมวด
รูปที่ 2 : มาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนปรับเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง
รูปที่ 3 : นโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะชัดเจนขึ้นในช่วงต้นปีหน้า
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/policy-rate-181224
ผู้เขียนบทวิเคราะห์ นนท์ พฤกษ์ศิริ (nond.prueksiri@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ข่าวเด่น