เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ttb analytics คาดเศรษฐกิจปี 2568 โตเพียง 2.6% ชี้ความเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทยสูงขึ้น



ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะอยู่ที่ 2.6% ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงต่ำสุดในภูมิภาค และต่ำกว่าศักยภาพเดิมในอดีต มองไปข้างหน้า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจาก 1) การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประกอบกับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด 2) แรงส่งที่มาจากภาคท่องเที่ยวและบริการลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น และ 3) การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงอานิสงส์จากการหันไปส่งออกเพื่อเลี่ยงเส้นทางการค้าของผู้ผลิตจีนไปยังสหรัฐฯ จะเริ่มลดลง 

มองเศรษฐกิจไทยปี 2568 โตชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า จากแรงส่งภาคการบริโภค-ท่องเที่ยวแผ่วลง 
 
ttb analytics ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโต 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566  (YoY) (ดีขึ้นจากประมาณการเดิมเล็กน้อยที่ 2.6%) โดยส่วนหนึ่งมาจากผลของฐานจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการเร่งส่งออกสินค้า และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐช่วงปลายปี ทั้งนี้ ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวชะลอลงที่ 2.6%YoY โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมาจากเม็ดเงินเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่อเนื่อง แต่ระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงต่ำสุดในภูมิภาค และต่ำกว่าศักยภาพเดิมที่เคยเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% มองไปข้างหน้า ttb analytics มองว่าความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น อันเนื่องจาก 
 
(1) การบริโภคภาคเอกชนเติบโตชะลอลง แม้หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 89.6% ของจีดีพี ต่ำสุดในรอบ 4 ปี แต่กลับมีสาเหตุหลักจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงิน สะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ที่มีทิศทางชะลอลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดสินเชื่อรายย่อยไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 หดตัว 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เก็บข้อมูลในปี 2540 โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถที่หดตัวสูงถึง 9.1%YoY โดยสินเชื่อรายย่อยคาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและคุณภาพสินเชื่อรายย่อยที่มีแนวโน้มกลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลบวกชั่วคราวจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคค่อนข้างจำกัด โดย ttb analytics มองว่าตัวทวีคูณ (Multiplier Effect) ต่อระบบเศรษฐกิจจากมาตรการแจกเงิน (ดิจิทัล) ในปี 2568 มีค่อนข้างน้อยเพียง 0.7-1.0% ของจีดีพี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลในเฟสที่ 3 เป็นหลัก เนื่องจากมาตรการแจกเงินในเฟส 2 เป็นการแจกเงินให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ 4 ล้านคน (ภายในเดือนมกราคม 2568) ซึ่งส่วนใหญ่เน้นใช้เงินไปกับการใช้หนี้และเก็บออม ขณะที่กลุ่มหลักจะอยู่ที่เฟส 3 ซึ่งเป็นการแจกเงินดิจิทัลเจาะจงกลุ่มเปราะบางทั่วไปถึง 13.6 ล้านคน (โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568) 
 
(2) แรงส่งการเติบโตที่มาจากภาคท่องเที่ยวและบริการลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น โดย ttb analytics ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 35.5 ล้านคนในปี 2567 เป็น 37.8 ล้านคนในปี 2568 หรือเติบโตเพียง 6.5%YoY ซึ่งคิดเป็นการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ระดับ 95% โดยเฉพาะการฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเยือนไทยที่ยังต่ำกว่าก่อนสถานการณ์โควิด-19 หรือเพียง 8 ล้านคนในปี 2568 ทั้งนี้ หากพิจารณาควบคู่ในมิติของรายได้นักท่องเที่ยวก็เริ่มมีข้อจำกัดเช่นกัน แม้รายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยจะเพิ่มขึ้นจนแตะระดับในปี 2562 แต่ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านราคาห้องพัก (Average Daily Rate : ADR) ทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงเกือบ 30%YoY ทำให้รายจ่ายของนักท่องเที่ยว 1 ใน 3 อยู่ในหมวดโรงแรมที่พักเพิ่มสูงขึ้นตาม ซึ่งนั่นหมายความว่า เพดานรายจ่ายของนักท่องเที่ยวโดยรวมในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มตึงตัวขึ้น 
 
(3) การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับอานิสงส์จากการเปลี่ยนเส้นทางการค้า (Trade Diversion) ของผู้ผลิตจีนที่ใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะเริ่มลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เนื่องจากไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากแนวนโยบายการค้าของทรัมป์จากการที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับคู่ค้าสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (รองจากเวียดนาม) และสูงถึง 7.9% ของจีดีพีเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ผลพวงจากอุปทานส่วนเกินของสินค้าจากจีนที่จะระบายมายังไทยเพิ่มเติม จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตไทยให้ทวีความรุนแรงขึ้น กระทบความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) รายไตรมาสที่หดตัว 8 ไตรมาสต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization : CapU) ก็อยู่ในระดับต่ำกว่า 60% เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ รวมถึงการผลิตโลหะขั้นมูลฐาน (เหล็กและเหล็กกล้า) ที่กำลังสูญเสียกำลังการผลิตต่ำกว่าระดับปกติมากถึง 30-40%  

ประเมิน กนง. ลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีหน้า ชี้ค่าเงินบาทเสี่ยงผันผวนไปในทิศทางอ่อนค่ากว่าในอดีต
 
ttb analytics ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 2 ครั้ง มาอยู่ที่ 1.75% ณ สิ้นปี 2568 จากนโยบายทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัว ทำให้แรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนมีข้อจำกัดมากขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า อีกทั้งระดับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่มีแนวโน้มต่ำลง ส่วนด้านเสถียรภาพทางการเงิน คาดว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำและมีแนวโน้มเข้าใกล้กรอบล่างเป้าหมาย ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มการคงมาตรการชดเชยด้านราคาพลังงานและมาตรการลดค่าครองชีพออกไป   
 
ในส่วนของค่าเงินบาท ttb analytics มองว่า ณ สิ้นปี 2568 จะอยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปในทิศทางอ่อนค่ากว่าในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ แม้ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่วัฎจักรผ่อนคลาย (Easing Cycle) ทั่วโลก แต่แนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ (FFR) ในปี 2568 อาจน้อยกว่าที่ประเมินไว้ ท่ามกลางจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจและการค้าภายใต้การบริหารของ ปธน.ทรัมป์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งจะทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) มีจังหวะแข็งค่าขึ้นได้เร็ว ขณะเดียวกัน หากพิจารณาในมิติของปัจจัยพื้นฐาน ค่าเงินบาทในระยะปานกลางมีแนวโน้มอ่อนค่าขึ้นกว่าในอดีต ตามการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2558-2562 จากการเกินดุลการค้าลดลงตามศักยภาพการส่งออกของไทย ซึ่งลดลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างสวนทางกับการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่การเกินดุลบริการกำลังเผชิญข้อจำกัดในการเติบโตทั้งในมิติการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ต่อหัว นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีความเสี่ยงผันผวนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากเงินบาทเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Currency) ค่อนข้างสูง ตามความนิยมซื้อขายหรือสะสมทองคำของผู้บริโภคและนักลงทุนในประเทศระยะหลัง (เช่นเดียวกับหลาย ๆ สกุลเงิน อาทิ สกุลเงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) และสกุลเงินรูเบิลรัสเซีย (RUB) ที่เคลื่อนไหวสัมพันธ์กับราคาพลังงานและก๊าซธรรมชาติ) ทำให้ค่าเงินบาทมักจะมีจังหวะผันผวนในบางช่วงสูงถึง 7-10%
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ธ.ค. 2567 เวลา : 15:26:04
23-12-2024
เบรกกิ้งนิวส์
1. ประกาศ กปน.: 24 ธ.ค. 67 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำบางพลี

2. ตลาดหุ้นปิด (20 ธ.ค.67) ลบ 12.46 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,365.07 จุด

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (20 ธ.ค.67) ลบ 13.48 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,364.05 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,580 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,615 เหรียญ

5. ทั่วไทยอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย "ยอดดอย" หนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5 องศา มีน้ำค้างแข็งบางแห่ง "ยอดภู" 6 องศา

6. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (19 ธ.ค.67) บวก 15.37 จุด ตลาดจับตาดัชนี PCE สหรัฐวันนี้

7. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (19 ธ.ค.67) ร่วง 45.20 เหรียญ หลังเฟดส่งสัญญาณชะลอลดดอกเบี้ย

8. ตลาดหุ้นไทยเปิด (20 ธ.ค.67) ลบ 0.50 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,375.83 จุด

9. ทองเปิดตลาดวันนี้ (20 ธ.ค. 67) ปรับลดลง 200 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 43,150 บาท

10. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-34.75 บาท/ดอลลาร์

11. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (20 ธ.ค.67) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 34.59 บาทต่อดอลลาร์

12. ตลาดหุ้นปิด (19 ธ.ค.67) ลบ 21.42 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,377.53 จุด

13. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (19 ธ.ค.67) ลบ 6.55 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,392.40 จุด

14. MTS Gold คาดว่าวันนี้ราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 2,590 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 2,640 เหรียญ

15. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (19 ธ.ค.67) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 23, 2024, 9:51 am