สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดประเภท และการให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ให้สอดคล้องกันสำหรับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (สัญญาฯ) รวมทั้งการให้บริการผลิตภัณฑ์ในประเทศและต่างประเทศ
ตามที่ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดประเภท และการให้คำแนะนำสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investors: II) และผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยปรับปรุงนิยาม II ให้เป็นนิติบุคคลเท่านั้น และสอดคล้องกันในการให้บริการแต่ละประเภทเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บริการและปฏิบัติต่อผู้ลงทุนแต่ละประเภทได้เหมาะสม และไม่เป็นภาระในการให้บริการด้วยนิยามผู้ลงทุนที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการในภาพรวมโดยมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ โดย ก.ล.ต. ได้นำมาปรับปรุงหลักการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้มีมติเห็นชอบการทบทวนหลักการดังกล่าวแล้วนั้น
ก.ล.ต. จึงยกร่างประกาศและภาคผนวกแนบท้ายประกาศที่เกี่ยวข้องข้างต้น และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจและบุคคลทั่วไป โดยสรุปหลักการสำคัญของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ดังนี้
การให้บริการลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจในภาพรวม
(1) ปรับปรุงนิยาม II สำหรับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้หมายถึงนิติบุคคลที่มีลักษณะตามที่กำหนดเนื่องจากเป็นผู้ลงทุนที่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างแท้จริง และปรับปรุงนิยาม II ของหลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและการให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาฯ* ให้สอดคล้องกัน
(2) กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดประเภทกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund: PF) เป็น II โดยไม่ต้องพิจารณาถึงระดับผู้ลงทุนที่ใช้บริการ (look through) เพื่อให้ไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบธุรกิจเกินควร เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ปัจจุบัน PF ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจต้องมีการจัดประเภทผู้ลงทุนเพื่อให้คำแนะนำและให้บริการจัดการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับฐานะ ความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน และถูกต้องตามหลักเกณฑ์อยู่แล้ว
การให้บริการพาลูกค้าไปลงทุนในผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ
(1) ปรับปรุงนิยาม II ให้สอดคล้องกับการให้บริการลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจในภาพรวม
(2) ปรับปรุงนิยาม “ผู้ลงทุนรายใหญ่” สำหรับการให้บริการลงทุนในต่างประเทศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจในเรื่องอื่นด้วย โดยให้หมายถึงผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth: UHNW) ซึ่งมีเงินลงทุนรวมเงินฝาก 30 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับบุคคลธรรมดา และ 60 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับนิติบุคคล โดยมีความรู้หรือประสบการณ์ตามที่กำหนด จากเดิมที่กำหนดตามนิยาม Qualified Investor (QI) ของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งยกเลิกแล้ว โดยเมื่อหลักเกณฑ์ใหม่มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้ลงทุนที่ได้รับการจัดประเภทเป็น QI ตามหลักเกณฑ์ปัจจุบันเป็น UHNW ตามหลักเกณฑ์ใหม่โดยอัตโนมัติ
(3) ปรับปรุงหลักเกณฑ์กรณีให้บริการผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาฯ (รวมเรียกว่า ศูนย์ซื้อขาย) โดยศูนย์ซื้อขายดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นสมาชิกของ IOSCO ซึ่งเป็นพหุภาคีประเภท Signatory A ใน Multilateral Memorandum of Understanding Concerning Consultation and Cooperation and the Exchange of Information (MMOU) (IOSCO MMOU) หรือเป็นศูนย์ซื้อขายที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE) แทนหลักการเดิมที่กำหนดให้ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายที่เป็นสมาชิกของ WFE เท่านั้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความยืดหยุ่นในการให้บริการ และไม่จำกัดโอกาสในการลงทุนของผู้ลงทุนจนเกินควร ภายใต้ระดับการคุ้มครองที่เหมาะสม
ทั้งนี้ เมื่อหลักเกณฑ์ใหม่มีผลใช้บังคับ ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดประเภท II ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่เมื่อถึงรอบการทบทวนการทำความรู้จักลูกค้า (KYC) ครั้งถัดไปของผู้ลงทุน หรือเมื่อผู้ลงทุนประสงค์จะซื้อหลักทรัพย์หรือสัญญาฯ เพิ่มเติม นอกจากนี้ กำหนดให้ประกาศมีผลใช้บังคับ 3 เดือนนับจากวันที่ประกาศลงนาม เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมระบบงานรองรับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงอย่างเพียงพอ
หมายเหตุ:
* ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 35/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
ข่าวเด่น