เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ "สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ในไตรมาสแรกปี 2025 ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 87.4% จากการหดตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือน"


สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ในไตรมาสแรกปี 2025 ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 87.4% จากการหดตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือน - SCB EIC ประเมินภาคครัวเรือนไทยจะยังมีแนวโน้มอยู่ในช่วง Deleveraging ต่อเนื่องซึ่งจะกดดันการใช้จ่ายภาคเอกชนในระยะข้างหน้า


สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยไตรมาส 1 ปี 2025 ลดลงต่อเนื่องตามวัฏจักร Deleveraging โดยมูลค่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนหดตัวครั้งแรกตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูล

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ Nominal GDP ของไทยไตรมาสแรกปี 2025 ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 87.4% ซึ่งเป็นผลจากยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนขยายตัวต่ำในช่วงที่ผ่านมา จนหดตัวในไตรมาส 1 ปี 2025 ที่ -0.1%YOY นับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยตามความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนที่ทยอยปรับด้อยลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 

มาตรการแก้หนี้ที่ออกมาเพิ่มเติมโดยเฉพาะ “คุณสู้ เราช่วย” อาจช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการชำระหนี้ในระยะสั้น และอาจทำให้ NPL ชะลอตัวลงบ้าง แต่ในระยะข้างหน้าต้องติดตามการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง

โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 ที่ออกมาอาจช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้เพิ่มเติม จากเงื่อนไขที่ผ่อนปรนขึ้นกว่าเดิม และมาตรการที่เพิ่มความครอบคลุมลูกหนี้ที่มีปัญหาทางการเงินได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ดี ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการในระยะต่อไปยังต้องขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาคครัวเรือน ทั้งนี้สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอาจไม่ได้สนับสนุนการฟื้นตัวของครัวเรือนมากนัก

SCB EIC มองครัวเรือนไทยจะอยู่ในช่วง Deleveraging ต่อไปในระยะข้างหน้า โดยสินเชื่อรายย่อยที่โตต่ำ และความระมัดระวังในการใช้จ่ายและก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่ออุปสงค์ในประเทศ

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไทยมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง จากยอดคงค้างสินเชื่อที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำตามปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และความเปราะบางทางเศรษฐกิจจากแผลเป็น COVID-19 การเข้าถึงสินเชื่อจะยังเผชิญความเข้มงวดของสถาบันการเงินอยู่ โดยประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ณ สิ้นปี 2025 จะลดลงต่อเนื่องไปอยู่ที่ช่วง 85.5-86.5% อย่างไรก็ดี กระบวนการลดหนี้ที่เห็นในลักษณะนี้อาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการบริโภคภาคเอกชนซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจ 

หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ของปี 2025 ลดลงมาอยู่ที่ 16.35 ล้านล้านบาท หดตัว -0.1%YOY นับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนในปี 2012 (รูปที่ 1) หลังจากชะลอตัวลงต่อเนื่องในหลายไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาส 1 ปี 2025 สินเชื่อเพื่อรถยนต์และจักรยานยนต์ซึ่งหดตัวรุนแรงถึง -10%YOY ตามสภาวะตลาดยานยนต์ที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อครัวเรือนประเภทอื่น ๆ ชะลอลงทั้งหมด (รูปที่ 2)

รูปที่ 1 : หนี้ครัวเรือนไทยหดตัวครั้งแรกตั้งแต่มีการเผยแพร่ข้อมูลในปี 2012
 
 
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

รูปที่ 2 : หนี้ครัวเรือนไทยชะลอลงในทุกประเภท
 
 
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

หากพิจารณาการหดตัวของสินเชื่อครัวเรือนตามประเภทของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อพบว่า การหดตัวเกิดขึ้นในสินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินเอกชนเป็นหลัก ตามความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์และบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งรวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ภาคครัวเรือนทั้งหมด โดยยอดคงค้างสินเชื่อครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์หดตัวถึง -3.0%YOY หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อครัวเรือนของบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล หดตัว -1.2%YOY หดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 สำหรับสถาบันการเงินของรัฐ และสหกรณ์เป็นแหล่งปล่อยสินเชื่อหลักที่ยังคงเติบโต ส่งผลช่วยให้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในภาพรวมไม่หดตัวมากนัก (รูปที่ 3) 

ในระยะข้างหน้า สถาบันการเงินของรัฐจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงให้หนี้ครัวเรือนไทยไม่หดตัวลงมาก จากมาตรการสินเชื่อต่าง ๆ ของภาครัฐ ขณะที่ต้องติดตามการเติบโตของสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะคุณภาพของสินเชื่อซึ่งจะมีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยต่อไป

รูปที่ 3 : สินเชื่อครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 2025 หดตัวจากยอดคงค้างสินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงินเอกชนเป็นหลัก
 
 
 
หมายเหตุ : ( ) หมายถึง สัดส่วนต่อหนี้ครัวเรือนคงค้างทั้งหมดในไตรมาส 1/2025
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

SCB EIC ประเมินหนี้ครัวเรือนไทยใน 2 – 3 ปีข้างหน้า ยังปรับลดลงต่อเนื่องตามวัฏจักร Deleveraging

SCB EIC คาดการณ์ว่าครัวเรือนไทยจะยังอยู่ในช่วง Deleveraging หรือการลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ภายหลังภาระหนี้ต่อ GDP ที่สูงขึ้นมากจากผลกระทบ COVID-19 อย่างไรก็ดี กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP (Household Debt Deleveraging) ในรอบวัฏจักรนี้อาจไม่ได้สะท้อนสัญญาณที่ดีของเศรษฐกิจไทยเช่นในอดีต เพราะ Deleveraing ในรอบนี้กำลังแสดง “อาการความเปราะบาง” ของเศรษฐกิจไทยหลัง COVID-19 ที่ยังมีแผลเป็นเศรษฐกิจเหลืออยู่และยังไม่ได้รับการแก้ไข

หากพิจารณาการลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เห็นในเชิงองค์ประกอบ พบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงจาก “ยอดหนี้คงค้างที่ขยายตัวต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ” โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนขยายตัวต่ำมานานกว่า 5 ไตรมาสแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจยังเติบโตอยู่ แม้จะโตต่ำและฟื้นตัวได้ช้า (รูปที่ 4)

รูปที่ 4 : สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงต่อเนื่อง ผลจากยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวต่ำ
 

หากเปรียบเทียบกับวัฏจักร Deleveraging รอบก่อน (ช่วงปี 2016–ก่อน COVID-19) เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 3.5%YOY แต่วัฏจักร Deleveraging รอบปัจจุบันนับตั้งแต่วิกฤต COVID-19 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยกลับเติบโตเฉลี่ยเพียง 2.3%YOY ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะทำให้รายได้ครัวเรือนฟื้นกลับมาในระดับที่สามารถลดภาระหนี้ได้อย่างยั่งยืน การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในรอบนี้ จึงเป็นผลจาก “การก่อหนี้ชะลอตัว” มากกว่า “รายได้ฟื้นตัว หรือ เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว” (รูปที่ 5)

รูปที่ 5 : วัฏจักรการลดหนี้ครัวเรือนรอบนี้เกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจไทยโตต่ำ
 

ในระยะต่อไป ประเมินว่าสถาบันการเงินจะยังคงมีแนวโน้มระมัดระวังการให้สินเชื่อ โดยคุณภาพสินเชื่อที่ปรับด้อยลงต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้หนี้ครัวเรือนขยายตัวต่ำ สัดส่วนสินเชื่อ Stage 3 (NPL) ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 3.41% ในไตรมาสแรกของปี 2025 หากพิจารณาในรายละเอียด พบว่าสินเชื่อที่มีความเสี่ยงระดับ Stage 3 (NPL) ปรับเพิ่มขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งมีสัดส่วน NPL สูงกว่าอยู่ที่ 4.11% และ 4.17% ตามลำดับ (รูปที่ 6) และหากคิดรวมกับสัดส่วนสินเชื่อที่มีความเสี่ยงระดับ Stage 2 แล้วสัดส่วนดังกล่าวจะสูงถึง 10.26% และ 8.45% ตามลำดับ

หากพิจารณาคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนพบว่า สถาบันการเงินมีแนวโน้มจะยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสถาบันการเงินเอกชน ตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความเปราะบางของครัวเรือน นอกจากภาคครัวเรือนไทยจะมีแผลเป็นจากวิกฤติ COVID-19 อยู่แล้ว ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่จะเข้ามากระทบเศรษฐกิจไทย ทั้งปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยเสี่ยงภายใน ทั้งจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและความเปราะบางของภาคธุรกิจที่ต้องแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้า

รูปที่ 6 : คุณภาพสินเชื่อครัวเรือนทยอยด้อยลง
 
 

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง แต่ล่าช้ากว่าหลายประเทศเป็นผลจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อต่ำ กระบวนการลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ Nominal GDP ของไทยเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ค่อนข้างล่าช้า (ประเมินจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงสุดในช่วง COVID-19 เทียบกับข้อมูลล่าสุด) อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทย พบว่าค่อนข้างต่ำกว่าหลายประเทศ โดยในประเทศเศรษฐกิจหลัก การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ส่วนหนึ่งเกิดจากเงินเฟ้อเร่งตัวในช่วงต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งช่วยลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ได้เร็วขึ้น จากมูลค่าเศรษฐกิจที่สูงขึ้นตามเงินเฟ้อ ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกแม้เงินเฟ้อเร่งตัวน้อยกว่า แต่อัตราการเติบโตของ GDP ฟื้นตัวได้ดีหลังวิกฤติ COVID-19 

โดยเปรียบเทียบแล้ว แม้กระบวนการลดหนี้ (Deleveraging) ของไทยอาจสอดคล้องกับทิศทางของประเทศอื่น ๆ แต่ความแตกต่างคือ กระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเกิดขึ้นผ่านยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ไม่เติบโตเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากการเติบโตของเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ (รูปที่ 7) โดยหากอัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ครัวเรือนไทยเผชิญกับภาวะ “Debt Deflation” ซึ่งจะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของหนี้ครัวเรือนไทยไม่ปรับลดลงไปตามระดับราคาที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ครัวเรือนจะยังคงมีภาระหนี้ที่สูง นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยสูงสุด ณ วิกฤติ COVID-19 อยู่ที่ระดับสูงมากเมื่อทั้งเทียบกับอดีตของไทยเอง และประเทศอื่น ๆ 

รูปที่ 7 : กระบวนการลดหนี้ครัวเรือนของไทยล่าช้ากว่าประเทศอื่นบ้าง ส่วนหนึ่งเพราะ Nominal GDP ไทยขยายตัวไม่สูงเท่าประเทศอื่น
 

 
ชุดนโยบายแก้หนี้ที่ประกาศล่าสุด อาจช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนได้บ้าง แต่ในระยะยาวขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนเป็นหลัก

ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลายมาตรการที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้ โดยเฉพาะมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” ล่าสุด ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่า โครงการได้ขยายขอบเขตเงื่อนไข และระยะเวลาเข้าร่วม ตลอดจนขยายเกณฑ์ให้ครอบคลุมลูกหนี้กลุ่มอื่นมากขึ้น โครงการใหม่นี้อาจช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะสั้น ผ่านแรงจูงใจในการลดภาระการชำระหนี้ต่อเดือน แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะต่อไปยังขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนเป็นหลัก โดยเฉพาะมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” ที่มีการปรับเพิ่มยอดชำระหนี้รายเดือนแบบเป็นขั้นบันไดในแต่ละปีที่ลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ 

ดังนั้น กระบวนการลดหนี้ที่จะเป็นประโยชน์แท้จริงต่อภาคครัวเรือนโดยรวม จะต้องเป็นกระบวนการลดหนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งอาจพิจารณาผ่าน 2 แนวทาง คือ กระบวนการแก้หนี้เดิม จะต้องออกแบบให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้ต่างกัน และกลไกนโยบายเศรษฐกิจมหภาค จะต้องช่วยประคองเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวได้มากพอที่จะนำไปชำระหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้หลุดจากปัญหาหนี้เรื้อรังได้อย่างยั่งยืน โดยในระยะต่อไปแนวทางในการป้องกันการก่อหนี้ที่ไม่ยั่งยืนอาจทำได้ผ่านนโยบาย Macroprudential ที่เหมาะสม เช่น การกำหนดเกณฑ์สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในภาวะที่ดอกเบี้ยลดต่ำลงมาเป็นระยะเวลายาวนาน (Low for Long)

กระบวนการลดหนี้ครัวเรือนของไทยจะยังเป็นปัจจัยสำคัญกดดันการบริโภคภาคเอกชนในระยะข้างหน้า

ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่ากระบวนการลดหนี้ครัวเรือนของไทยจะยังดำเนินต่อไป จากยอดคงค้างสินเชื่อครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตต่ำลงต่อเนื่องจากปัจจัยสงครามการค้า แผลเป็นเศรษฐกิจในภาคครัวเรือนและ SMEs ที่มีอยู่เดิม และข้อจำกัดด้านนโยบายการคลัง โดยมีโอกาสเข้าสู่ Technical recession โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ณ สิ้นปี 2025 จะลดลงต่อเนื่องไปอยู่ที่ช่วง 85.5-86.5%

อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำก็เพียงพอที่จะทำให้สัดส่วนดังกล่าวทยอยปรับลดลง โดยกระบวนการลดหนี้ (Deleveraging) ในลักษณะนี้อาจไม่ได้ช่วยให้ครัวเรือนปลดล็อกจากปัญหาหนี้สินได้ดีมากนัก เนื่องจากรายได้ครัวเรือนจะฟื้นตัวช้า นอกจากนั้น การเข้าถึงสินเชื่อของครัวเรือนก็มีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหามากขึ้น ตามความระมัดระวังในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน และมีแนวโน้มกดดันการบริโภคภาคเอกชนไทยในระยะต่อไป ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลัง COVID-19

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/Household-Debt-150725

ผู้เขียนบทวิเคราะห์
 
 
นนท์ พฤกษ์ศิริ  (nond.prueksiri@scb.co.th)
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

 
ไกรวิทย์ ลี (t_Kraivit.Lee@scb.co.th)
Economist trainee

 
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th)
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ก.ค. 2568 เวลา : 15:06:47
19-07-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (18 ก.ค.68) บวก 8.47 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,206.58 จุด

2. ประกาศ กปน.: 24 ก.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนราชพฤกษ์ และถนนบรมราชชนนี

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (18 ก.ค. 68) บวก 7.06 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,205.17 จุด

4. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 3,320 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,350 เหรียญ

5. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (17 ก.ค.68) ร่วง 13.80 เหรียญ เหตุดอลลาร์แข็งค่า-ข้อมูลเศรษฐกิจแกร่ง

6. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (17 ก.ค.68) บวก 229.71 จุด นักลงทุนขานรับข้อมูลเศรษฐกิจ-ผลประกอบการแกร่ง

7. พยากรณ์อากาศวันนี้ (18 ก.ค.68) กรุงเทพปริมณฑล ฝนตกหนัก 70% ภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก 60% ภาคอีสาน 40% ภาคใต้ 30-40%

8. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (18 ก.ค.68) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 32.44 บาทต่อดอลลาร์

9. ตลาดหุ้นไทยเปิดวันนี้ (18 ก.ค.68) บวก 0.77 จุดทดัชนีอยู่ที่ 1,198.88 จุด

10. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.35-32.55บาท/ดอลลาร์

11. ทองเปิดตลาดวันนี้ (18 ก.ค. 68) "คงที่" ทองรูปพรรณ ขายออก 52,050 บาท

12. ประกาศ กปน.: 23 ก.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันตก)

13. ตลาดหุ้นปิด (17 ก.ค.68) บวก 40.48 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,198.11 จุด

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (17 ก.ค.68) บวก 33.38 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,191.01 จุด

15. MTS Gold คาดราคาทองคำยังคงเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบแคบ Sideways มีแนวรับสำคัญอยู่ที่ระดับ 3,320 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,355 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 19, 2025, 1:39 pm